Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ดินถล่ม: ธรณีพิบัติภัยใกล้ตัวที่ควรตระหนัก (Landslide: the geohazard you should realize)

           ดินถล่ม (รูปที่ 1) เป็นธรณีพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสิ่งอำนวยความสะดวกของประชาชน ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีการเกิดดินถล่มในประเทศไทยที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นพื้นที่ของภูเขาสูงและมีความลาดชันสูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย

                สำหรับนิยามของดินถล่มในทางธรณีวิทยา หมายถึง  การเคลื่อนที่ของมวลของดิน หิน หรือทั้งคู่ ลงมาตามแนวลาดเอียงอันเนื่องมาจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดดินถล่ม คือ น้ำ ซึ่งเป็นตัวกลางหลักที่ช่วยในการเคลื่อนตัวที่เรียกว่า การพัดพา (transportation)

Landslide
รูปที่ 1 ดินถล่มที่ประเทศเปรูเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม 2018 (ที่มา: https://www.flickr.com/photos/ministeriodedefensaperu/39935939755/in/dateposted/)

ปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่มมีอยู่หลายปัจจัย ลองมาดูปัจจัยหลักๆดังนี้ ก็คือ

1. น้ำ

น้ำซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝน เมื่อตกลงมาจะแทรกอยู่ตามช่องว่างของตะกอนดินทำให้มวลมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังลดแรงเสียดทานและความสามารถในการยึดเกาะตัวกันของมวลดิน ทำให้มวลดินเลื่อนไถลได้ง่ายขึ้น ซึ่งมวลดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำจะเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นมาก ดังนั้นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่มรสุมพัดผ่านเป็นประจำ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มขึ้นมาก เช่น บริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย

2. ความลาดชันของพื้นที่

พื้นที่ที่มีความลาดเอียงหรือความชันสูง (ตามรายงานของกรมทรัพยากรธรณีบอกว่าเกิน 30 องศา แต่บางรายงานวิจัยของต่างประเทศบอกว่าเกิน 25 องศา) เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดดินถล่มมากๆ โดยยิ่งความชันมาก โอกาสถล่มก็ยิ่งมาก อย่างเช่นถนนที่ลัดเลาะไปตามหุบเขา (รูปที่ 2) นั้นมีโอกาสเกิดดินถล่มมาก เพราะเมื่อเนื้อภูเขาส่วนล่างถูกแซะออกไปทำถนน ทำให้เนื้อภูเขาส่วนบนมีความลาดชันเพิ่มขึ้นและไม่มีส่วนที่จะแบกรับน้ำหนัก จึงมีโอกาสไถลลงมาได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อแรงเสียดทานหรือแรงยึดเกาะภายในชั้นดินลดลงในช่วงฤดูฝน

Landslide
รูปที่ 2 ดินถล่มที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อเดือน สิงหาคม 2561 (ที่มา: https://www.nationthailand.com/in-focus/30350957)

3. ชนิดหินและดิน

ปัจจัยนี้จะเกี่ยวข้องกับการผุพังและการแปรเปลี่ยนในชั้นหินหรือดิน โดยพื้นที่ที่วางตัวอยู่บนชั้นหินที่ผุง่ายและสูญเสียความแข็งแรงไป พื้นที่ลักษณะนี้ก็มีโอกาสเกิดดินถล่มสูงเช่นกัน ซึ่งหินที่ผุง่ายดังกล่าวนี้ เช่น หินแกรนิต มีอัตราการผุพังสูงและจะให้ดินตะกอนทรายร่วนหรือทรายปนดินเหนียวที่ชั้นหนา ทำให้สามารถอุ้มน้ำได้มหาศาล โอกาสที่ตะกอนดินจะพังถล่มลงมาจึงมีสูงเนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

4. การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

                รากพืชช่วยยึดเกาะหน้าดินและช่วยยับยั้งการเคลื่อนตัวของมวลดิน ดังนั้นบริเวณที่การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน บุกรุกพื้นที่ป่าสมบูรณ์เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้พื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ดินถล่มในตำบลกะทูน อำภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราชในเดือนพฤศจิกายน ปี 2531 (รูปที่ 3) ซึ่งพื้นที่นี้มีการบุกรุกป่าทำการเกษตรอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงในการเกิดดินถล่ม ซึ่งทำความเสียหายแก่บ้านเรือนมากกว่า 1,500 หลัง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายร่วม 100 คน ประเมินความเสียหายมากกว่าพันล้านบาท

Landslide
รูปที่ 3 ดินถล่มที่ตำบลกะทูน อำภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราชในเดือนพฤศจิกายน ปี 2531 (ที่มา: https://sator4u.com/paper/2120)

จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปได้ก็คือ การเกิดดินถล่มส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยหรือสิ่งเร้าเพียงปัจจัยเดียว หากแต่ต้องเกิดจากการประกอบกันจากปัจจัยที่กล่าวมารวมกันจึงจะทำให้เกิดดินถล่มขึ้นมา ซึ่งลักษณะของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดดินถล่มในประเทศไทยจะมีสภาพทั่วไปดังนี้ (ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี ดูได้จากเวปไซต์http://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=99799&filename=index)

·        บริเวณที่มีมรสุมพัดผ่านเป็นประจำ ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย มีร่องรอยดินไถลหรือเลื่อนบนภูเขา

·        อยู่บนเนินเขามีความลาดเอียงค่อนข้างสูง และมีอัตราการผุพังของหินและดินสูง เคยมีดินถล่มมาบ้าง

·        มีก้อนหินขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ปะปนกันตลอดท้องน้ำและพื้นห้วย

·        มีกองหิน เนินทรายปนโคลน และต้นไม้ในห้วยหรือใกล้หมู่บ้าน

โดยกรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำแผนที่ซึ่งแสดงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มดัง(รูปที่ 4) โดยวิเคราะห์จากปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาด้านบน ซึ่งได้ทำการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชุมชนต่างๆในการเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการเกิดดินถล่ม และเตรียมการพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดินถล่มที่จะเกิดขึ้นอย่างไรให้ถูกวิธี โดยต้องมีการวางแผนการอพยพและช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพหลังภัยพิบัติ

Landslide
รูปที่ 4 แผนที่แสดงพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่มในประเทศไทย (ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี)

การรับมือกับภัยพิบัติดินถล่ม

ข้อควรจำก็คือเมื่อเกิดฝนตกหนัก (ส่วนใหญ่ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) มักเกิดดินถล่มตามมา ให้สังเกตสีของน้ำที่ไหลผ่าน หากมีสีขุ่นข้นอาจเกิดภัยดินโคลนถล่ม เมื่อเกิดดินถล่มจะเป็นอันตรายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด เสาไฟฟ้าและต้นไม้ล้ม โดยหากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มควรมีข้อปฎิบัตืในการรับมือดินถล่ม คือ (ที่มา: ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ)

·        ติดตามข่าวสารและประกาศเตือนภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงฝนตกหนักซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดดินถล่มสูง

·        หากท่านอยู่ในพื้นที่บริเวณอันตราย ให้สำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อเตรียมการหนีภัย

·        สังเกตระดับและสีของน้ำในลำห้วย ถ้าน้ำเปลี่ยนสีและมีระดับที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วควรอพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัยโดยเร็ว

·    สังเกตพื้นที่รอบที่อยู่อาศัยหากพบสิ่งบอกเหตุที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม เช่น มีเสียงดังอู้ อื้ออึงมากผิดปกติบนภูเขาและในลำห้วย เนื่องจากการถล่มและเลื่อนไถลของหินและดิน และต้นไม้ล้ม ให้แจ้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยเร็วเพื่อเตรียมแผนอพยพและรับมือ

 

หากจะกล่าวโดยสรุป ก็คือดินถล่มเป็นภัยใกล้ตัวที่พวกเราทุกคนควรตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล ดังนั้นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรมีการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและอพยพระหว่างเกิดเหตุ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันถ้วงที

 

บทความโดย อ.ดร.เชฏฐพร สุจิตะพันธ์

Facebook Comments Box