ทำไมเข็มเล็กๆ จิ้มลงไปในผิวหนังถึงสามารถรักษาโรคได้เยอะมากมาย ทำไมฝังตรงบริเวณนี้แล้วรักษาได้ถึงอวัยวะภายใน ปัจจุบันความนิยมฝังเข็มก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการรักษาของโรงพยาบาลหลายๆ แห่งที่นอกเหนือจากแพทย์แผนปัจจุบัน แผนไทยก็ยังมีแผนจีนอีกด้วย และยังมีคลินิคของคุณหมอแพทย์แผนจีนที่เปิดขึ้นใหม่เพื่อรองรับการฟื้นฟูสุขภาพ

คุณหมอฆรวรรณ ชินวรปัญญา แพทย์จีนโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ได้กล่าวถึงการฝังเข็มไว้ว่า คือศาสตร์การรักษา ฟื้นฟูสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคแขนงหนึ่งในแพทย์แผนจีนที่มีมานานกว่า 5,000 ปี โดยใช้เข็มขนาดเล็กฝังตามจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณ เป็นการปรับอวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองให้การฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาโรคแขนงหนึ่ง และยังมีหลายๆ งานวิจัยพบว่า การฝังเข็มให้ผลการรักษาที่โดดเด่นกับกลุ่มอาการและโรคหลายๆ โรค เช่น อาการปวดต่างๆ โรคทางเดินอาหาร หรือแม้แต่ความงาม ซึ่งมีความปลอดภัยโดยไม่ต้องทานยา
อะไรบ้างที่รักษาด้วยการฝังเข็มได้ดี?
- อาการปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ
- หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือทับเส้นประสาท
- โรคระบบทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน กระเพาะ
- โรคทางสูตินรีเวช เช่น ปวดประจำเดือน ภาวะมีบุตรยาก
- โรคทางระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต
- อาการนอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า
- ปรับสมดุลร่างกาย
- ด้านความงาม ลดสิว กระชับผิว ฝ้า กระ ริ้วรอย หรือลดความอ้วน
ทำไมเข็มเล็กๆ จึงรักษาโรคได้มากมาย?
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน บริเวณต่างๆ ทั่วร่างกายมีพลังงานไม่เท่ากัน (ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่”) ซึ่งการฝังเข็มจะเป็นการใช้เข็มฝังบริเวณที่เป็นเส้นลมปราณของร่างกาย เป็นการช่วยกระตุ้นลมปราณและเลือดให้ไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ช่วยระบายเลือดที่คั่งเนื่องจากการไหลเวียนไม่ดี ช่วยระบายความร้อนหรือสารพิษ และเป็นการช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับเข้าสู่สมดุล
ฝังเข็มแล้วช้ำ ทำอย่างไรดี?
แพทย์จีน รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย) คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว กล่าวว่า ในกล้ามเนื้อของเรานั้นมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยมีเส้นเลือดฝอยล้อมรอบ หลังจากฝังเข็มแล้วอาจจะเกิดเลือดซึมเล็กน้อยบริเวณตามจุดที่ปักเข็ม ก็จะสามารถหยุดได้เองและไม่มีผลข้างเคียงใดๆ และหากมีรอยช้ำก็จะค่อยๆหายจางได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
ดังนั้น หลังจากฝังเข็มก็ควรประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวม หลังจาก 24 ชั่วโมงหากบริเวณที่ฝังเข็มมีอาการปวด ให้ใช้การประคบอุ่น
ข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่จะฝังเข็ม
- ผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะอาจจะกระตุ้นครรภ์ส่งผลต่อลูกหรือแท้งได้
- ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะอาจจะเกิดการกระตุ้นที่หัวใจ
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติเรื่องการแข็งตัวของเลือด
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่างๆ
- ผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาโรคด้วยการผ่าตัดต่อไป
- ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแอ
“ควรฝังเข็มกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ”
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
- โรงพยาบาลไทยนครินทร์ “ฝังเข็ม” ปรับสมดุล…รักษาโรค https://thainakarin.co.th/acupuncture-tnh/
- คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ฝังเข็มแล้วช้ำทำอย่างไร https://shorturl.asia/RPafl
- HDmall ฝังเข็ม การรักษาแผนจีนสารพัดประโยชน์ https://hdmall.co.th/c/what-is-chinese-acupuncture