Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“มันหนึบ” ของกินเล่น…ที่ไม่ใช่เล่น ๆ

“ลองของใหม่กันหรือยัง?” “อะไรเหรอ…ของใหม่?” “ขายดีมากนะ….เป็นสินค้าออนไลน์สุดฮิตเลย ในช่วงนี้…….” นั่นซิ ของดี ของใหม่ ยังไงก็ต้องได้ลอง…….แล้วคืออะไรหล่ะ ยังไม่รู้จัก ก็อยากลองแล้ว….สิ่งของที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกาย ของเรา ยังไงก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนใช้ นี่เป็นสิ่งที่รู้ แต่จะทำหรือเปล่า ก็ว่ากันอีกที….

รูปที่ 1: มันหนึบ ที่ซื้อจากช่องทางออนไลน์

สินค้าตามกระแสในช่วงนี้ คงไม่พ้น “มันหนึบ” ที่มีให้หาซื้อได้ตามช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะ shopping online โดยสนนราคาก็ไม่ได้ราคาแพงมาก แต่ก็ไม่ได้ราคาถูกเช่นเดียวกัน ขึ้นกับโปรโมชั่น และแผนการตลาดของแต่ละร้านค้า

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสลิ้มลองชิม “มันหนึบ” ครั้งแรก จากการได้รับเป็นของฝาก บรรจุอยู่ในซองปิดอย่างดี มีความแน่น แต่นิ่ม เมื่อแกะซองออก บรรจงกัดลงบนชิ้นเนื้อของ “มันหนึบ” จะรู้สึกได้ถึงเนื้อสัมผัสที่เหนียว หนุ่ม และมีรสหวาน ทำให้หลาย ๆ คนหลงรัก และติดใจใน “มันหนึบ” นี้ โดยที่เราอาจจะไม่รู้เลยว่ากรรมวิธีในการเตรียมเป็นมาอย่างไร เรามาทำความรู้จัก “มันหนึบ” นี้กันดีกว่าครับ  

รูปที่ 2: ตัวอย่างมันหนึบจากประเทศเกาหลี (ที่มา: https://www.japaikin.com)

หากกล่าวถึง “มัน” ในบ้านเรา มีหลายชนิด อาทิเช่น มันฝรั่ง ซึ่งเราคุ้นชินกับการรับประทานในรูปของมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ หรือไม่ก็อยู่ในรูปของมันฝรั่งแท่งทอด หรือเฟรนฟรายนั่นเอง, มันขี้หนู คนใต้น่าจะรู้จักเป็นอย่างดี โดยนิยมนำส่วนของรากสะสมอาหารมาปรุงเป็นอาหาร มันขี้หนูนี้จัดอยู่ในพืชวงศ์ Lamiaceae หรือที่รู้จักว่าวงศ์กะเพรา, มันมือเสือ เป็นพืชในวงศ์กลอย ที่นิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะทำเป็นของหวาน ซึ่งมีทั้งหัวสีม่วง และสีขาว พืชในวงศ์เดียวกันนี้ถูกเรียกว่า “มัน” อีกหลายชนิด แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็น “มัน” ที่เป็นที่มาของ “มันหนึบ” นั่นคือมันเทศครับ

มันเทศ หรือ Sweet potato มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ipomoea batatas L. จัดอยู่ในวงศ์ Convolvulaceae หรือวงศ์ผักบุ้ง (มันแบบไม่หวาน จะเรียก Iris potato หรือที่เรารู้จักคือ มันฝรั่ง นั่นเอง ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae) แหล่งกำเนิดระบุได้ไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกา และมีการแพร่กระจายของมันเทศไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วงของสมัยการล่าอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย เป็นต้น ปัจจุบันพบว่ามีหลายสายพันธุ์ ทั้งที่มีเนื้อสีขาว สีเหลือง สีส้ม และสีม่วง เนื้อสัมผัสของแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งระดับของความหวาน ก็แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความแตกต่างของภูมิประเทศที่ทำการเพาะปลูก และการปรับปรุงสายพันธุ์ให้เป็นไปตามต้องการของตลาด และผู้บริโภคนั่นเอง เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการของมันเทศ จะเห็นได้ว่าส่วนหัวของมันเทศอุดมไปด้วยสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และวิตามินชนิดต่าง ๆ (อาทิ Vitamin B1, Niacin, Riboflavin, และ Vitamin C เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ เช่น มันเทศสีเหลือง และสีส้ม จะมีสารจำพวกเบต้าแคโรทีน และมันเทศสีม่วง จะพบสารจำพวก Anthocyanins เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของเรา สำหรับส่วนอื่น ๆ เช่น ยอดอ่อนของมันเทศ ยังอุดมไปด้วย Vitamin A ที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาอีกด้วย

รูปที่ 3: หัวมันเทศชนิดหนึ่ง (Sweet potato) (ที่มา: https://www.pinterest.com/)

มาถึงตอนนี้ เรายิ่งสนใจมันเทศไปอีก สำหรับมันญี่ปุ่นที่นิยมนำมาเตรียมเป็น “มันหนึบ” แน่นอน จัดเป็นมันเทศเหมือนกัน แต่เป็นสายพันธุ์ที่ให้ความหวานสูง ลักษณะเนื้อสัมผัสนิ่ม เนื้อเนียน จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารหลาย ๆ ชนิด แม้กระทั่งมันเผาง่าย ๆ ก็อร่อยมาก ๆ เช่นกัน สำหรับมันเทศพันธุ์ของไทย ความหวานอาจจะไม่เท่า และเนื้อสัมผัสที่ไม่เนียนเท่า แต่ก็อร่อยในอีกแบบหนึ่ง มันเทศสามารถเก็บได้นาน หลังจากเก็บเกี่ยว โดยต้องดำเนินการเก็บเกี่ยวหัวมันเทศที่โตเต็มที่แล้ว และเก็บในสภาวะที่แห้ง โดยต้องไม่ให้ช้ำ หรือมีรอยแผล การเก็บที่อุณหภูมิ 10 – 15 องศาเซลเซียส จะทำให้สามารถเก็บรักษามันเทศได้ถึง 3 ปีเลยทีเดียว มันเทศยังมีประโยชน์อีกมาก โดยเฉพาะการมีเส้นใยอาหารมาก ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ ทำให้การขับถ่ายสะดวก และดีขึ้นได้ และมันเทศยังมีเอนไซม์ Amylase ซึ่งช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้อีกด้วย

“มันหนึบ” เป็นรูปแบบการเตรียมเป็นอาหารโดยแปรรูปหัวมันเทศให้อยู่ในรูปของ “มันหนึบ” ซึ่งกระบวนการผลิต จะเริ่มจากการคัดเลือกหัวมันเทศ จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาด ปลอกเปลือกออก จากนั้นจะนำมันเทศไปนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้ว จะนำมันเทศที่ได้มาหั่นเป็นชิ้น ๆ ตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นจะนำไปตากแห้ง หรือนำมาอบอีกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีเนื้อสัมผัสที่เหนียว นุ่ม และมีรสหวานยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลลงไปเพิ่ม

จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า “มันหนึบ” เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะจากสารจำพวกคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง และมีเส้นใยอาหารที่สูง รับประทานแล้วทำให้อิ่มง่าย อยู่ท้อง แต่ไม่ได้เป็นอาหารควบคุมน้ำหนักแต่อย่างใด หากเรารับประทานไปจำนวนมาก ก็อาจจะเกิดผลเสียกับคนบางกลุ่มได้ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่ต้องคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารที่พอเพียง พอเหมาะ และเหมาะสมในแต่ละคน ก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. มันเทศ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, เล่มที่ ๕,เรื่องที่ ๕ พืชหัว https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=5&chap=5&page=t5-5-infodetail01.html
  2. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี (ม.ป.ป.), มันเทศ (Sweet potato), สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล https://inmu2.mahidol.ac.th/th/wp-content/uploads/2021/10/KN_395.pdf

Facebook Comments Box