Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ผีเสื้อกลางวัน วงศ์ขาหน้าพู่ @อุทยานพฤกษศาสตร์

ผีเสื้อกลางวัน วงศ์ขาหน้าพู่ @อุทยานพฤกษศาสตร์

ผีเสื้อกลางวันวงศ์ขาหน้าพู่ ในอุทยานพฤกษศาสตร์

                ดิฉันได้มีโอกาสสำรวจผีเสื้อกลางวันวงศ์ขาหน้าพู่ในอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้ทำการสำรวจโดยการใช้กับดักแขวนซากผลไม้และใช้การเดินสำรวจ ซึ่งสำรวจในเดือนเมษายนและมิถุนายนของ ปี พ.ศ. 2566 จากการสำรวจพบผีเสื้อกลางวันวงศ์ขาหน้าพู่หลากหลายชนิด สำหรับบทความนี้ขอเสนอความหลากหลายชนิดของผีเสื้อกลางวันวงศ์ขาหน้าพู่ในอุทยานพฤกษศาสตร์ให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ

นรีทิพย์ นวนแก้ว

               ผีเสื้อกลางวัน เป็นแมลงกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความหลากหลายทางด้านจำนวนชนิดและการแพร่กระจายในแหล่งที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ ลำตัวของผีเสื้อ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง โดยส่วนหัว ประกอบด้วย ตาและปาก ปากของผีเสื้อมีลักษณะเป็นท่อ ซึ่งปกติจะม้วนเก็บเป็นวงกลมเมื่อจะใช้ปากจะคลายออกเพื่อกินอาหารที่เป็นของเหลว ขาของผีเสื้ออยู่ที่ส่วนอก ปีกของผีเสื้อเป็นเกล็ดชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกันแบบกระเบื้องมุงหลังคา (Gullan & Cranston, 2014)

                วงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ (Family Nymphalidae)  ผีเสื้อวงศ์นี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มีรูปทรงและสีสันของปีกแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด จุดเด่นของผีเสื้อวงศ์นี้คือ มีขาสมบูรณ์ 4 ขา มีขาคู่หน้าเป็นเพียงโคนขาสั้น และมีกระจุกขนปกคลุม ไม่สามารถใช้เกาะหรือเดินได้ ในประเทศไทยพบผีเสื้อวงศ์นี้มากที่สุด โดยพบทั้งหมด 12 วงศ์ย่อย มีไม่น้อยกว่า 401 อีกหนึ่งจุดเด่นของผีเสื้อวงศ์นี้คือในระยะตัวหนอนจะมีขนแหลมทั่วตัวหนอน ผีเสื้อตัวเต็มวัยชอบออกหากินในที่โล่ง (พิสุทธิ์, 2555)

ลำดับอนุกรมวิธาน

อาณาจักร (Kingdom) Animalia

                   ไฟลัม (Phylum) Arthropoda

                             ชั้น (Class) Insecta

                                      อันดับ (Order) Lepidoptera

                                                อันดับย่อย (Suborder) Ditrysia

                                                          อนุวงศ์ (Supper Family) Papilionoidea

                                                                   วงศ์ (Family) Nymphalidae

ผีเสื้อกลางวันวงศ์ขาหน้าพู่ในอุทยานพฤกษศาสตร์จากการสำรวจพบทั้งหมด 6 วงศ์ย่อย ได้แก่

Charaxinae

ผีเสื้อม้าเขียวธรรมดา
Polyura athamas (Drury, 1773)

Danainae

ผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ
Ideopsis vulgaris (Butler, 1874)

Limenitidinae

ผีเสื้อกะลาสีธรรมดา
Neptis hylas (Linnaeus, 1758)

Morphinae

ผีเสื้อหนอนมะพร้าวปุยขน
Amathusia phidippus (Linnaeus, 1763)

Nymphalinae

ผีเสื้อแพนซีมยุรา
Junonia almana (Linnaeus, 1758)

Satyrinae

ผีเสื้อตาลพุ่มธรรมดา
Mycalesis perseus (Fabricius, 1775)

ลักษณะการเกาะของผีเสื้อกลางวัน

ผีเสื้อกลางวัน
วงศ์ Nymphalidae ซึ่งเกาะอยู่บนใบของต้นลิ้นกระบือ

                ลักษณะการเกาะของผีเสื้อกลางวัน จะเกาะแบบหุบปีกตั้งตรงขึ้นปีกด้านบนแนบชิดติดกันหรือกางออกเล็กน้อย ส่วนลักษณะของหนวดผีเสื้อกลางวันนั้นจะเป็นแบบกระบอง ขณะเกาะอยู่หนวดของผีเสื้อกลางวันจะชูขึ้นคล้ายตัวอักษรตัววีในภาษาอังกฤษ (พิสุทธิ์, 2555)

วิธีการสำรวจ

                การวางกับดักแขวนซากผลไม้และการเดินสำรวจ สำรวจทั้งหมด 3 พื้นที่ คือพื้นที่ใกล้สวนยางพารา พื้นที่ป่าทึบ พื้นที่โล่ง แต่ละพื้นที่ห่างกันประมาณ 250 เมตร และจะวางกับดักแขวนผลไม้ทั้งหมด 9 กับดัก โดยแต่ละพื้นที่จะวางกับดักแขวนผลไม้ 3 กับดัก มีระยะห่างระหว่างกับดัก 10 เมตร  

ตำแหน่งและขอบเขตการวางกับดักซากผลไม้แบบแขวนและการใช้สวิงในการสำรวจ

เดินสำรวจในแต่ละพื้นที่จะสำรวจโดยใช้สวิงเป็นเวลา 30 นาที

กับดักแขวนซากผลไม้จะมีระยะห่างจากพื้นดินประมาณ 40-50 เซนติเมตร และระหว่างถาดอาหารและตัวกับดักแขวนผลไม้จะห่างกัน 15 เซนติเมตร กับดักซากผลไม้ใช้ประมาณ 5 ทัพพี ต่อหนึ่งกับดักซึ่งจะใช้เวลาในการวางกับดักทั้งหมด 24 ชั่วโมง

การเตรียมกับดักซากผลไม้จะหมักผลไม้เป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งส่วนผสมที่จะใช้ในกับดักผลไม้
ได้แก่ มะละกอ, แตงโม, กล้วย, สับปะรด และผงเกลือแร่ ในอัตราส่วน 1:1:1:1:1 ตามลำดับ 

Facebook Comments Box