Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

พูดภาษาอังกฤษ ทีไรมือสั่น ใจเต้น ไปไม่เป็นทุกที คุณอาจจะประสบกับ Foreign Language Anxiety (FLA)

ปกติแล้วในชีวิตของเรา ความเครียดหรือความกังวลเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยจริง ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะจากเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว เราเลยมีวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดความเครียดหรือความกังวลนั้น เช่น ทำงานอดิเรก ออกกำลังกายเรียกเหงื่อเพิ่มสารแห่งความสุขให้สมองของเรา เล่นกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก ไปคาเฟ่ หรือออกไปหาอะไรอร่อย ๆ รับประทานกับเพื่อนฝูงหรือคนที่รัก เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

ในแวดวงการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นภาษาใด ๆ ก็ได้ที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา (Native tongue) ภาษาที่เราศึกษานั้นมีคำเฉพาะเรียกว่า Target Language แปลตรงตัวก็คือภาษาปลายทาง ผู้เรียนมักจะเกิดความกังวล ซึ่งความกังวลลักษณะนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Foreign Language Anxiety (FLA) ซึ่งหมายถึง ความกังวล ความเครียด ความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ หรืออาจะถึงขั้นตื่นตระหนกเมื่อต้องใช้ภาษาต่างประเทศหรือภาษาปลายทาง อาการเหล่านี้สามารถแสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจเลยค่ะ ผู้ที่ประสบกับภาวะนี้อาจจะมีอาการตั้งแต่เหงื่อแตก ใจเต้นผิดปกติ มือสั่น พูดติด ๆ ขัดๆ หรือ หากเป็นทางใจก็อาจจะถึงขั้นเก็บไปฝัน เครียดจัดและมีความตื่นตระหนก ความรู้สึกจะคล้าย ๆ เวลาเรารอเจอคุณหมอเพื่อฉีดยาเลยค่ะ อธิบายให้เห็นภาพ หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง “หมอเจ็บ” ให้นึกถึงฉากที่มีผู้หญิงล้มตึงลงไปตอนออกไปร้องคาราโอเกะแล้วหมอพาย พระเอกของเราต้องเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลค่ะ

แน่นอนว่าหากไม่มีวิธีรับมือกับมัน ผู้ที่ประสบภาวะ FLA ก็จะเกิดข้อจำกัดในการสื่อสารในภาษานั้น ๆ กระทบความมั่นใจในระยะยาว ซึ่งก็อาจส่งผลต่อการเรียนและการทำงาน หรือถึงกับท้อถอยในการเรียนภาษาได้เลยทีเดียว เพราะจากงานวิจัยแล้วทักษะที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีผลอย่างมากต่อการได้เลื่อนขั้นในตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนสูง คือ ทักษะการนำเสนอและการสื่อสาร นั่นเอง

อ่านแล้วก็ตกใจกันไปเลยใช่ไหมคะ แต่สบายใจได้เลยค่ะ เพราะผู้เขียนจะบอกว่าปกติแล้ว ผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศ ต่างก็ต้องรับมือกับปัญหานี้ทั้งนั้น ซึ่งก็รวมทั้งตัวผู้เขียนเองที่ปัจจุบันนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาการพูดในที่สาธารณะเป็นภาษาอังกฤษค่ะ เคยทั้งเป็นเองและเห็นลูกศิษย์ลูกหาต้องพยายามรับมือกับอาการนี้มานักต่อนักแล้ว แต่ภาวะความกังวลจากการเรียน หรือการใช้ภาษาต่างประเทศ ก็เหมือนไข้หวัดค่ะ เป็นได้ ทุเลาได้ และหายได้

ก่อนที่จะมาพูดถึงกับวิธีการรับมือกับเจ้า FLA เรามาทำความรู้จักประเภทของของเขากันค่ะ FLA แบ่งออกได้เป็นสามประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ประเภทแรก State Anxiety ซึ่งเป็นความกังวล ความตระหนกเวลาที่เราเจอสถานการณ์ที่น่ากลัว น่ากังวล เช่น เจองู การเดินในที่มืดและเปลี่ยวในเวลากลางคืน การตกหลุมอากาศเมื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะฉะนั้น ความกังวลประเภทนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์เวลาที่เผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของคน ๆ นั้นค่ะ นึกภาพง่าย ๆ ถ้าเราเดินออกไปถามคนจำนวนสิบคนตอนนี้ คนส่วนใหญ่หรือเผลอ ๆ อาจจะทั้งหมดจะตอบว่ากลัวค่ะ ซึ่งต่างจากประเภทที่สองที่เรียกว่า Trait anxiety ความกังวลประเภทนี้ค่อนข้างเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลและมักถูกกระตุ้นด้วยสิ่งที่อาจจะไม่ได้สร้างความกังวลหรือความกลัวให้คนหมู่มาก ยกตัวอย่างเช่น บางคนจะกังวลมากเมื่อคนรักไม่ตอบข้อความอย่างรวดเร็ว ความกังวลนั้นพาคิดไปไกลถึงเรื่องการเลิกราต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ หรือบางคนอาจจะเดินเข้าร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างเงียบ ความเงียบนั้นก็พาคิดไปไกลว่าทุกคนคงกำลังมองและตัดสินตนเองอยู่เป็นแน่ หากถามคำถามเหล่านี้กับคนทั่วไป ผู้ที่ตอบว่ากังวลก็จะมีสัดส่วนที่น้อยลงชนิดครึ่งต่อครึ่งได้เลยค่ะ และความกังวลประเภทสุดท้ายคือ Situational Anxiety นี่คือความกังวลเฉพาะสถานการณ์​ ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์ที่เฉพาะมากๆ ต่อบุคคลคนนั้น เช่น ผู้ที่เคยถูกงูกัด เมื่อเดินบนสนามหญ้าก็อาจจะกังวลมาก หรือหากเป็นในบริบทของการเรียน หรือการใช้ภาษาต่างประเทศ ผู้ที่ประสบกับภาวะนี้ก็อาจจะรู้สึกประหม่า ไม่มั่นใจเมื่อต้องพูดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ทั้งที่โดยปกติแล้วเป็นผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ได้ดีในภาษาไทย เป็นต้น จากข้อมูลนี้ Foreign Language Anxiety ก็จะอยู่ในประเภทสุดท้าย ซึ่งนั่นก็คือ Situational anxiety นั่นเอง

ต่อไปเราจะมาเรียนรู้ว่าอะไรคือตัว Trigger หรือ ก่อความกังวลในการใช้ภาษาต่างประเทศนะคะ โดยทางทฤษฎีแล้ว ตัวกระตุ้นจะมีสามตัวหลักๆ ด้วยกัน ตัวแรกคือ Communication apprehension เกิดขึ้นเมื่อเราต้องสื่อสาร ไม่ใช่แค่การพูดที่คนส่วนใหญ่มักเป็นนะคะ แต่รวมทั้งการฟัง และการเขียนด้วย ต้องสื่อสารภาษาต่างประเทศทีไร พาลจะเป็นลมทุกที หากมีอาการนี้ แสดงว่าคุณกำลังเจอกับสาเหตุนี้ค่ะ ตัวที่สองคือ Test anxiety ความกังวลในสถานการณ์ที่ต้องถูกประเมิน การสอบวัดผลต่างๆ เช่น ปกติก็พูด อ่าน เขียนและใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่เวลาเป็นการสอบทีไร ได้คะแนนต่ำทุกครั้งไป เนื่องจากความกังวลเรื่องคะแนน และตัวสุดท้าย Fear of Judgement สำหรับประเภทนี้ ต้องบอกเลยว่าหลายคนเจอปัญหานี้ค่ะ โดยเฉพาะเวลาเราต้องพูดภาษาต่างประเทศตอนที่เราไม่ได้ชำนาญ พูดไปก็กลัวคนจะตัดสินไปต่าง ๆ นานา คิดสงสัยไปว่าเขาจะวิพากษ์วิจารณ์เราอยู่ในใจหรือไม่ ขณะที่เราพูดแล้วผู้ฟังหน้านิ่ง เราก็สรุปทันทีเลยว่า เราพูดได้ไม่ดี ทั้งที่จริงผู้ฟังของเราอาจจะเป็นคนหน้านิ่งอยู่แล้วหรือกำลังตั้งใจฟังเราอย่างมากก็ตาม

ในคราวหน้าเราจะมาเรียนรู้กันต่อค่ะว่า เราจะรับมือกับมันอย่างไรเพื่อให้เราได้ใช้ภาษาต่างประเทศได้ปัง ตัวเราสบายกายสบายใจและสนุกไปกับกระบวนการการเรียนรู้ค่ะ

Facebook Comments Box