Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

รู้มั้ย !!! ปัสสาวะบอกภาวะสุขภาพ

คนส่วนใหญ่เข้าห้องน้ำและปัสสาวะโดยไม่ได้สนใจปัสสาวะของตนเอง โดยเข้าใจว่าปัสสาวะมีสีเหลืองเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆแล้วปัสสาวะของคนเรานั้นมีหลายสีมาก และปัสสาวะที่ผิดปกติไปไม่ว่าจะเรื่องสีหรือลักษณะอย่างอื่นเป็นสัญญาณจะบอกเกี่ยวกับภาวะสุขภาพได้ เราจึงควรทำความรู้จักปัสสาวะในลักษณะต่างๆ ดังนี้

          สีของปัสสาวะ

          1. ใส ไม่มีสี เกิดจากการดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าที่แนะนำให้ดื่มในแต่ละวัน ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำเกินไป มักเจอในคนที่พกพาน้ำดื่มตลอดเวลา หรือผู้ป่วยจิตเวช

          2. สีขาวขุ่น พบในคนที่ดื่มนมมากจนทำให้เกิดผลึกของฟอสเฟต

          3. สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทอง คือคนที่ระดับน้ำในร่างกายอยู่ในระดับปกติ

          4. สีเหลืองเข้ม อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อยจนเกินไป

          5. สีเหลืองสดหรือสีนีออน เกิดจากการกินวิตามินหรืออาหารเสริม

          6. สีส้ม ร่างกายขาดน้ำและหมายถึงปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีหรือตับ บางครั้งอาจเป็นเพราะการกินแครอท การกินวิตามินบี 2 ในปริมาณมาก

          7. สีส้มเข้มหรือสีน้ำตาล เกิดขึ้นจากการขาดน้ำอย่างรุนแรง

          8. สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ อาจเกิดจากการกินถั่วบางชนิดในปริมาณมาก หรือแสดงถึงโรคบางชนิด เช่น โรคตับ มะเร็งผิวหนัง

          9. สีชมพูและสีแดง หมายถึงการมีเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะหรือเป็นสัญญาณของโรคไต หรือโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในไต เนื้องอกหรือมะเร็งไต

          10. สีเขียว ยาบางชนิดและสีผสมอาหารสีเขียวอาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีเขียวได้ และยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้

          11. สีฟ้า อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกที่หายาก แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากยาหรือสีผสมอาหารสีน้ำเงิน

          12. สีม่วง มีชื่อเรียกเฉพาะว่า อาการปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง พบในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะนานมีการติดเชื้อ

ลักษณะปัสสาวะอื่นๆ

1. ปัสสาวะเป็นฟองโดยเอาน้ำราดแล้วยังมีฟองอยู่ พบได้ในโรคไตอักเสบที่มีโปรตีนรั่วออกมา

2. ปัสสาวะขุ่น อาจมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกรวยไตอักเสบ

การสังเกตลักษณะปัสสาวะของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราทราบถึงอาการผิดปกติที่ร่างกายแจ้งเตือนมาแต่เนิ่นๆ และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0

https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=70 สืบค้น

https://www.youtube.com/watch?v=nBiEanyu6Lo สืบค้น

เขียนและเรียบเรียงโดย

ผศ.ดร.อาทิตย์ บุญรอดชู

อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box