Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โปรติสต์ทะเล แหล่งกรดไขมันดี แห่งท้องทะเลไทย

 ผศ.ดร.จริยา สากยโรจน์

jsakayaroj@gmail.com
Expertise : Marine Mycology, Molecular Fungal Systematics
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร โท-เอก วิทยาศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

2643

เมื่อกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโปรตีสตา หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์แบบยูคาริโอต อาจเป็นเซลล์เดี่ยวหรือหลายเซลล์ ดำรงชีพในระบบนิเวศที่หลากหลาย อาจสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้และอาศัยการดูดซึมสารอาหารจากภายนอกเข้าสู่เซลล์

ในระบบนิเวศทางทะเลมีโปรตีสต์กลุ่ม thraustochytrids จัดอยู่ใน Class Labyrinthulomycetes เป็นจุลินทรีย์เซลล์เดี่ยว ที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำที่มีความเค็มช่วงประมาณ 5-30 ppt เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่มีหน้าที่ย่อยสลายซากสารอินทรีย์ จึงพบได้ทั่วไปในระบบนิเวศทางทะเลและป่าชายเลน (ภาพที่ 1) เราสามารถคัดแยกเซลล์ thraustochytrids มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการได้ไม่ยากนัก โดยมันจะรวมเซลล์กันเป็นโคโลนีรูปร่างคล้ายๆ แบคทีเรียหรือยีสต์ เมื่อส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ประมาณ 400 เท่าจะพบเซลล์กลมๆ ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยสร้าง thallus และพัฒนาไปเป็น sporangium ลักษณะการแบ่งเซลล์ของ sporangium แตกต่างกันไปในแต่ละสกุล ภายใน sporangium บรรจุ zoospore มีรูปร่างกลมหรือรีตามแนวยาว ด้านข้างมี flagella 2 เส้น ช่วยในการเคลื่อนที่ (Raghukumar 2002) thraustochytrids แต่ละสกุลและชนิดจะมีการสร้างและปลดปล่อย zoospore ที่แตกต่างกัน

ในประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์จุลินทรีย์กลุ่ม thraustochytrids ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น Aurantiochytrium, Shizochytrium, Thraustochytrium, Pareitichytrium spp. (ภาพที่ 2-4) การจัดจำแนกต้องมีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการคัดแยกที่เฉพาะเจาะจง การตรวจสอบลักษณะรูปร่างหน้าตาของเซลล์และการตรวจหาลำดับพันธุกรรม นอกจากนี้จุลินทรีย์กลุ่มนี้สามารถผลิตกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fatty acids) โดยเฉพาะชนิดโอเมก้า 3 ได้แก่ docosahexaenoic acid (DHA), eicosapentaenoic acid (EPA) และ arachidonic acid (ARA) โดยเฉพาะ DHA จุลินทรีย์กลุ่มนี้สามารถผลิตได้ในปริมาณสูงถึงประมาณ 35% ของปริมาณลิปิดทั้งหมดในเซลล์ (Unagul et al. 2017) กรดไขมันเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ เช่น เสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ เสริมพัฒนาการของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง:

Raghukumar, S. (2002). Ecology of the marine protists, the Labyrinthulomycetes (Thraustochytrids and Labyrinthulids), Europ. J. Protistol. 38: 127-145.

Unagul, P., Suetrong, S., Preedanon, S., Klaysuban, A., Gundool, W., Suriyachadkun, C., and Sakayaroj, J. (2017). Isolation, fatty acid profiles and cryopreservation of marine thraustochytrids from mangrove habitats in Thailand. Botanica Marina, 60(4), 363-379.

ภาพที่ 1 ป่าชายเลน แหล่งที่อยู่ของโปรตีสต์ทะเล
Facebook Comments Box