Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ภาวะซีดในเด็ก ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม…..

“ภาวะซีดในเด็ก” เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและพบได้บ่อยในเด็กไทยอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ซึ่งมักเกิดจากการ “ขาดสารอาหาร” ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจแปลกใจว่าทำไมลูกถึงมีภาวะขาดสารอาหารได้ ทั้งๆ ที่ลูกกินเก่ง

ภาวะซีด…เกิดจากอะไร ?

สาเหตุของภาวะซีด เกิดจากการที่ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12 แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก จนทำให้เกิดภาวะซีด ซึ่งผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการซีดของเด็กได้จาก เปลือกตาล่าง ริมฝีปาก ฝ่ามือซีด บางครั้งเด็กอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมด้วย ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ภาวะซีด….หากปล่อยไว้จะยิ่งแย่ โดยส่งผลกระทบดังนี้:

  • ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้: เด็กมีอาการเฉื่อยชา สมาธิลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ช้าลง เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีสุขภาพดีวัยเดียวกัน
  • ด้านการเจริญเติบโต: กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย และอาจตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • ด้านพฤติกรรมและอารมณ์: อารมณ์ไม่ดี ไม่ร่าเริง
  • ด้านสุขภาพ: ภูมิต้านทานต่ำลง ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว

ภาวะซีดป้องกันได้ง่ายๆ

“ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก” ป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และกินนมวัวครบส่วน ไม่เกิน 2 แก้ว/วัน ที่สำคัญอย่าให้ขาดอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อแดง ตับ ไข่แดง ผักใบเขียว นอกจากนี้ควรกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันลูกน้อยจากภาวะซีดได้แล้ว

อ้างอิง: คู่มือแนวทางควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางของกรมอนามัย

ขอขอบคุณภาพจาก Canva

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัสตราภรณ์ แก้วพะวงค์

อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box